
เครดิตภาพ-Paul E. Alers/NASA
“วิลเลียม โบรุคกี” ทำงานให้กับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกามายาวนานถึง 53 ปี ในวัย 76 ปี เขาเกษียณตัวเองเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาจากตำแหน่งหลังสุด นั่นคือ หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ประจำภารกิจเคปเลอร์ โครงการที่โบรุคกีเป็นเจ้าของความคิดริเริ่มและเป็นผู้ผลักดันอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980
โครงการเคปเลอร์เป็นโครงการส่งยานอวกาศไร้นักบินอวกาศออกไปสำรวจทั่วกาแล็กซีทางช้างเผือกหาดาวเคราะห์ที่มีลักษณะคล้ายโลกนอกระบบสุริยะ เริ่มภารกิจตั้งแต่ปี 2009 สามารถค้นพบดาวเคราะห์คล้ายโลกนอกระบบสุริยะดวงแรกและอีกนับพันดวงในเวลาต่อมา โบรุคกีเพิ่งได้รับรางวัลเกียรติยศ “ชอว์ ไพรซ์” ทางด้านดาราศาสตร์จากฮ่องกงประจำปีนี้
โบรุคกี ให้สัมภาษณ์เอาไว้หลายครั้งในระยะหลังนี้ว่า ยิ่งได้ตรวจสอบ ได้รับความรู้ความเข้าใจกระจ่างมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับดาวเคราะห์ที่มีลักษณะคล้ายโลก มีวงโคจรอยู่ใน “เขตที่อยู่อาศัยได้” หรือ “ฮาบิแทต โซน” มากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งรู้สึกถึง “ความพิเศษ” ของโลกที่เราอาศัยอยู่มากขึ้นเท่านั้น
“เขตที่อยู่อาศัยได้” คือระยะห่างจากดาวฤกษ์ที่เหมาะสม ไม่ใกล้เกินไปจนทุกอย่างเดือดพล่าน และไม่ไกลเกินไปจนทุกอย่างเย็นจัดจนเยือกแข็งไปทั้งหมด
“เรามีกาแล็กซีที่เต็มไปด้วยดาวเคราะห์ขนาดเล็กใกล้เคียงกับโลก และอยู่ในเขตที่อยู่อาศัยได้ เป็นพันล้าน หรือเป็นหมื่นล้านดวง” โบรุคกีบอก
สิ่งที่เขากังขาก็คือว่า ถ้าหากมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นที่ไหนสักแห่งบนดาวเคราะห์สักดวงเหล่านั้น ก็น่าจะอนุมานได้ว่าสิ่งมีชีวิตสักแห่งหรือมากกว่านั้น “น่าจะ” สามารถวิวัฒนาการขึ้นมาเป็น “สิ่งมีชีวิตที่ทรงภูมิปัญญา″ และ “มีอารยธรรม” ได้ทำนองเดียวกับที่เกิดขึ้นบนโลก
คำถามของโบรุคกีก็คือ ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วทำไมยังไม่มีการติดต่อจากสิ่งมีชีวิตในอารยธรรมเหล่านั้น ทำไมถึงไม่มีการเดินทางมา “เยือน” โลกเราจากอารยธรรมเหล่านั้น เป็นไปได้อย่างไรกัน?
ข้อสรุปที่อาจเป็นไปได้อย่างยิ่งของโบรุคกีก็คือ “ไม่มีใครอยู่ข้างนอกนั่น เป็นไปได้มากว่า มีเรา (มนุษย์) อยู่เพียงลำพังในทางช้างเผือกนี้”
โบรุคกีเชื่อว่า คำถามนี้ไม่ได้เป็นคำถาม “ไร้สาระ” อีกต่อไปแล้ว ก่อนหน้านี้เราอาจพูดได้ว่าที่ไม่มีเป็นเพราะไม่มีดาวเคราะห์ดวงอื่น หรือมีแต่ไม่ได้อยู่ในเขตที่อยู่อาศัยได้ ซึ่งไม่เป็นความจริงอีกต่อไป
“คำถามนี้สำคัญเพราะนี่คือการถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น?”
เขานำเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับคำถามนี้เอาไว้น่าสนใจอย่างยิ่งว่า เป็นไปได้ว่าอารยธรรมต่างดาวอื่นๆ เหล่านั้น วิวัฒนาการไปได้ไม่ถึงระดับที่จะติดต่อหรือมาเยือนได้ก็ “สิ้นสุดลง”
“เป็นไปได้ไหมว่า อารยธรรมอื่นๆ ไม่ตระหนักถึงความสำคัญชนิดคอขาดบาดตายของการรักษาสภาพที่อยู่อาศัยได้ (ของดาวเคราะห์ของตนเอง) เอาไว้?”
เขาบอกว่าแนวความคิดที่เป็นไปได้ที่ว่านั้นทำให้เกิดความกังวล
“มันเตือนให้เราตระหนักว่าเราต้องคิดให้รอบคอบมากๆ ว่าเราจะทำอย่างไรถึงจะปกป้องไบโอสเฟียร์ของโลกไว้ได้ และปกป้องสภาพบรรยากาศของโลกเอาไว้ให้ได้”
วิลเลียม โบรุคกี ย้ำว่า โลกนี้เป็นสถานที่ “พิเศษมากๆ”
ถ้าเราไม่มี หรือไม่ใช้ภูมิปัญญาและเทคโนโลยี เพื่อปกป้องไบโอสเฟียร์ของโลกไว้
“โลกอาจกลายเป็นเหมือนดาวเคราะห์ที่ตายแล้วอีกหลายแห่งได้ทันที”