ก่อนหน้านี้เหล่านักฟิสิกส์ดาราศาสตร์เคยวิพากษ์วิจารณ์ภาพยนตร์ฮอลลีวูดชื่อดังเรื่อง “อาร์มาเกดดอน” (Armageddon) ว่าการขุดเจาะฝังระเบิดนิวเคลียร์เพื่อทำลายดาวเคราะห์น้อยที่ใกล้จะพุ่งเข้าชนโลกอยู่เต็มแก่แล้วนั้น ไม่อาจเป็นไปได้อย่างแน่นอน เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องความแข็งแกร่งของดาวเคราะห์น้อย เงื่อนไขด้านเวลา และการไม่สามารถควบคุมเศษหินอวกาศที่เกิดจากการระเบิดได้
อย่างไรก็ตาม ผลงานวิจัยล่าสุดจากห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอว์เรนซ์ ลิเวอร์มอร์ (LLNL) ของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังจะตีพิมพ์ในวารสาร Acta Astronautica ฉบับเดือนพฤศจิกายนนี้ กลับชี้ว่าเราสามารถใช้การระเบิดดาวเคราะห์น้อยในระยะประชิดเฉียดใกล้โลกเป็น “หนทางสุดท้าย” ในการพิทักษ์มวลมนุษย์และสรรพชีวิตบนโลกให้อยู่รอดปลอดภัยได้ หากดาวเคราะห์น้อยที่เป็นอันตรายนั้นมีขนาดไม่ใหญ่โตมากนัก
ผลการคำนวณด้วยแบบจำลองคอมพิวเตอร์ชี้ว่า วิธีหลีกเลี่ยงหายนะล้างโลกดังกล่าว “มีประสิทธิภาพอย่างมาก” ในการทำลายดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กซึ่งอยู่ในวิถีโคจรที่จะพุ่งชนโลกภายในระยะเวลา 1 ปี
ศาสตราจารย์ แพทริก คิง จากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ของสหรัฐฯ ผู้นำทีมวิจัยของ LLNL บอกว่า “การสร้างแบบจำลองเพื่อประเมินความเป็นไปได้ของการระเบิดทำลายดาวเคราะห์น้อยนั้น ยากกว่าการสร้างแบบจำลองเพื่อคำนวณหาโอกาสในการชน เพื่อให้ดาวเคราะห์น้อยเบี่ยงเบนทิศทางออกห่างจากโลกเสียอีก”
Image # 4.
“ในกรณีของการระเบิดทำลายนั้น เราต้องสร้างแบบจำลองวิถีโคจรของสะเก็ดหินชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่เกิดจากการระเบิดด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีหินอวกาศที่ยังเป็นอันตรายต่อโลกหลงเหลืออยู่” ศ. คิงกล่าวอธิบาย
ทีมวิจัยของ ศ. คิง จึงได้สร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์ใหม่ ที่สามารถคำนวณหาความเป็นไปได้ในการทำลายดาวเคราะห์น้อยความกว้าง 100 เมตร ซึ่งเท่ากับหินอวกาศที่มีขนาดราว 1 ใน 5 ของดาวเคราะห์น้อยเบนนู (Bennu) ที่มีชื่อเสียงนั่นเอง โดยจะใช้วิธียิงอาวุธนิวเคลียร์ที่มีแรงระเบิด 1 เมกะตัน เข้าปะทะดาวเคราะห์น้อยในช่วงเวลาตั้งแต่ 1 สัปดาห์ ไปจนถึง 6 เดือนก่อนมันจะพุ่งเข้าชนโลก
หากดาวเคราะห์น้อยที่เป็นเป้าหมายมีขนาดใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อย ก็ยังมีโอกาสที่จะทำลายให้แตกย่อยเป็นเศษหินที่มีน้ำหนักเพียง 1% ของมวลดั้งเดิมได้ หากสามารถยิงอาวุธนิวเคลียร์เข้าเป้า ในช่วง 6 เดือนก่อนการชนปะทะกับโลก
Image # 5.
นอกจากนี้ ทีมผู้วิจัยยังใช้ซอฟต์แวร์พิเศษชื่อว่า Spheral ในการตรวจสอบทิศทางของเศษหินอวกาศ ซึ่งเกิดจากการระเบิดจนดาวเคราะห์น้อยแตกเป็นเสี่ยง ๆ อีกด้วย เพื่อให้ทราบว่าเศษหินทุกชิ้น ซึ่งถูกกระทำด้วยแรงโน้มถ่วงและแรงอื่น ๆ จะมีวิถีโคจรพุ่งไปในทิศทางใดกันแน่
แม้จะสามารถสร้างแบบจำลองที่คำนวณได้อย่างแม่นยำแล้วก็ตาม แต่ทีมผู้วิจัยชี้ว่าวิธีการพิทักษ์โลกอย่างเฉียดฉิวแบบในภาพยนตร์อาร์มาเกดดอนนี้ ควรใช้เป็นหนทางสุดท้ายหากวิธีแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ในระยะยาวไม่ได้ผลแล้วเท่านั้น เพราะหากเกิดความผิดพลาด เศษหินจากการระเบิดที่เป็นอันตรายจะพุ่งเข้าโจมตีโลกพร้อมกันในหลายจุดทันที
ศ. คิงกล่าวเน้นย้ำว่า วิธีที่ดีที่สุดเพื่อขจัดภัยจากดาวเคราะห์น้อยทุกขนาด ยังคงได้แก่การใช้ยานหรืออุปกรณ์ทางกลศาสตร์อื่น ๆ พุ่งเข้าชนดาวเคราะห์น้อย เพื่อให้เบี่ยงเบนหันเหทิศทางออกห่างจากโลก โดยควรจะทำให้สำเร็จเสียแต่เนิ่น ๆ ในช่วงหลายปีหรือหลายสิบปีก่อนโลกจะถูกชนพินาศ
ล่าสุดองค์การนาซาแถลงว่า กำลังเตรียมปล่อยยานอวกาศ 2 ลำในภารกิจ DART เพื่อทดลองชนหักเหทิศทางของวัตถุที่เป็นบริวารดาวเคราะห์น้อยในวันที่ 23 พ.ย.นี้ โดยมีหินอวกาศ “ไดมอร์ฟอส” (Dimorphos) บริวารที่โคจรวนรอบดาวเคราะห์น้อย “ไดดีมอส” (Didymos) เป็นเป้าหมาย ซึ่งทั้งสองต่างก็จัดเป็นวัตถุที่มีวงโคจรเข้าใกล้โลก (Near-Earth Object – NEO) โดยสามารถเข้าประชิดในระยะใกล้กว่า 48 ล้านกิโลเมตรได้
………..
ชม