พอเข้าฤดูหนาว (ที่ไม่ค่อยจะหนาว) ทีไรนอกจาก ผิวจะแห้งจนมือลอก แล้วหลายๆ คนก็น่าจะ แปลงร่างเป็นปิกาจูที่เที่ยวปล่อยกระแสไฟช็อตคน (หรือสิ่งของ) อื่นไปทั่ว เดินๆ อยู่พอไปแตะโดนตัวคนอื่นหน่อยก็รู้สึกเหมือนโดนช็อต หรือจะหยิบจับอะไรก็รู้สึกว่าเหมือนจะโดนช็อตอยู่ตลอด แถมบางครั้งยังช็อตรุนแรงจนได้ยินเสียง “เปรี๊ยะ” ตามมาด้วยอาการมือชาไปพักหนึ่งเลยทีเดียว ซึ่งตอนดูหนังแล้วเห็นฮีโร่ที่มีซูเปอร์พาวเวอร์ที่ปล่อยไฟฟ้าไปช็อตคนนู้นคนนี้ก็ดูเท่ดีอยู่หรอก หรือดูโปเกมอนแล้วเห็นปิกาจูช็อตไฟฟ้าแสนโวลท์ก็ดูน่ารักน่าเอ็นดู แต่พอเกิดเหตุการณ์ “ไฟช็อต” ขึ้นกับตัวเองแล้วทำไมมันถึงดูไม่เท่เลยนะ แถมเจ็บตัวอีกต่างหาก
อาการไฟช็อต (ไฟฟ้าสถิตย์ในคน) เกิดจากอะไร?
นักวิทยาศาสตร์อธิบายถึงเหตุการณ์นี้เอาไว้ว่า อาการคล้าย “ไฟช็อต” นี้จริงๆ แล้วเป็น “ไฟฟ้าสถิตย์” ที่เกิดจากความไม่สมดุลกันของประจุไฟฟ้า ซึ่งภายในโครงสร้างโมเลกุลของสสารต่างๆ รอบตัวเรานั้นจะประกอบไปด้วย “อะตอม” ที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และภายในอะตอมนั้นก็มีประจุไฟฟ้าล่องลอยอยู่ ทั้ง โปรตอน (Protons) ที่เป็นไฟฟ้าประจุบวก, นิวตรอน (Neutrons) ที่มีค่าไฟฟ้าเป็นกลาง และ อิเล็กตรอน (Electrons) ที่เป็นไฟฟ้าประจุลบ และโดยปกติแล้วภายในอะตอมจะมีจำนวนของโปรตอนและอิเล็กตรอนที่เท่าๆ กัน และเมื่อจำนวนของโปรตอนและอิเล็กตรอนมีความแตกต่างกัน (ส่วนมากจะเป็นการกระจายตัวของอิเล็กตรอน ในขณะที่โปรตอนและนิวตรอนไม่มีการขยับตัว) ก็จะเกิดการถ่ายโอนประจุไฟฟ้าขึ้นเพื่อรักษาสมดุลภายในอะตอม
ซึ่งเวลาที่เราไปสัมผัสตัวบุคคลหรือสิ่งของแล้วนั้น เราก็ได้ทำการ ส่งถ่ายประจุไฟฟ้า ไปยังคนหรือสิ่งของต่างๆ ที่เราสัมผัสอีกด้วย และหากร่างกายของเรามี จำนวนประจุไฟฟ้าเกินจุดสมดุล เมื่อเราไปสัมผัสกับคนหรือสิ่งของนั้นๆ แล้ว เราก็จะ ดึงดูดอิเล็กตรอนจากอีกฝ่ายเข้ามาเพื่อปรับสมดุลของประจุไฟฟ้าภายในอะตอม และการดึงดูดกันของอิเล็กตรอนนี้เองที่ทำให้เกิดไฟฟ้าสถิตย์ขึ้น หรือที่เรารู้สึกว่าเราไป“ช็อต” กับคน (หรือสิ่งของ) อื่นๆ นั่นเอง
โดยปัจจัยหลักที่ทำให้จำนวนโปรตอนและอิเล็กตรอนเกิดความไม่สมดุลกันนั้นคือ“ความชื้นในอากาศ” เพราะประจุอิเล็กตรอนมักจะกระจายตัวไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกายเราได้ง่ายในพื้นที่ที่มีอากาศแห้ง นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเมื่อเข้า ฤดูหนาว (ที่ถึงแม้ว่าอากาศจะไม่หนาว) หรือเมื่ออยู่ในพื้นที่ที่เป็น ห้องแอร์ อย่างห้างสรรพสินค้าหรือออฟฟิศแล้วเรามักจะ เกิดไฟฟ้าสถิตย์ขึ้นมาได้ง่าย กว่าในช่วงฤดูร้อน, ฤดูฝน หรือพื้นที่ภายนอกห้องแอร์ที่มีความชื้นในอากาศสูง
และนอกเหนือจากปัจจัยเรื่องความชื้นในอากาศแล้ว อาการ ไฟฟ้าสถิตย์ นี้ยังเกิดขึ้นมา จากการเสียดสี ของสิ่งต่างๆ หรือที่เรียกว่า“Triboelectric Effect” หรือปรากฎการณ์ไฟฟ้าที่เกิดจากการขัดถู เพราะการนำเอาของสองสิ่งมาขัดถูเข้าด้วยกันนั้นเหมือนเป็นการ “ชาร์จ” ประจุไฟฟ้าเข้าด้วยกัน โดยของทั้งสองสิ่งนั้นจะทำการแลกเปลี่ยนประจุไฟฟ้าระหว่างกัน ก่อให้ เกิดพลังงานไฟฟ้าขนาดย่อมๆ ที่ทำให้ของทั้งสองสิ่งเชื่อมติดกันในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (หากใครนึกไม่ออกก็ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การทดลองทางวิทยาศาสตร์ตอนเด็กที่ครูเคยให้ลองเอาลูกโป่งมาถูกับเส้นผมแล้วยกขึ้นมา ผลคือผมลอยติดมากับลูกโป่งด้วยนั่นละ) และตัวอย่างปรากฎการณ์ Triboelectric Effect ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ การใส่รองเท้าหนังเดินบนพื้นพรม, การที่ถุงพลาสติกลู่ลงติดกับสิ่งของภายในถุง, การสอดกระดาษใส่แฟ้มพลาสติก หรือการที่ขนแมวติดกับเม็ดโฟม เป็นต้น
ที่มา คลิกที่นี่