คลิก Image # 3.
ในปี พ.ศ.2547 ทีมนักวิทยาศาสตร์จากโครงการสำรวจวิวัฒนาการของดาราจักรด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศกาแล็กซี (Galaxy Evolution Explorer GALEX) ขององค์การนาซา ได้พบเห็นวัตถุที่ไม่เหมือนกับที่เคยเห็นในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา นั่นคือก้อนก๊าซจางๆขนาดใหญ่ ที่เหมือนจะมีดวงดาวอยู่ตรงกลาง เมื่อสังเกตอย่างรอบคอบก็พบวงแหวนหนา 2 วงอยู่ภายใน ทีมจึงตั้งชื่อว่าเดอะ บลู ริง เนบิวลา (Blue Ring Nebula)
หลังจากศึกษาด้วยกล้องโทรทรรศน์บนพื้นโลกและกล้องโทรทรรศน์อวกาศหลายตัวกลับยิ่งพบความลึกลับ เนื่องจากเนบิวลาชนิดนี้เป็นหนึ่งในวัตถุหายาก เมื่อเร็วๆนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ในสหรัฐอเมริกา เผยว่า เนบิวลานี้มีลักษณะเป็นวงแหวนก๊าซไฮโดรเจนโดยมีดาวฤกษ์อยู่ตรงกลาง คุณสมบัติของระบบเนบิวลาบ่งชี้ว่ามันคือดาว 2 ดวงที่เหลืออยู่เผชิญกับการตายขั้นสูงสุด โดยการขยับการโคจรเข้าด้านใน ส่งผลให้ดาวทั้งคู่รวมกัน ทั้งนี้ ดาวฤกษ์ส่วนใหญ่ในทางช้างเผือกที่อยู่ในระบบดาวคู่ ก็จะเป็นดาว 2 ดวงโคจรรอบกัน เมื่อดวงดาวมีวิวัฒนาการพวกมันจะขยายตัวและถ้าทั้งคู่อยู่ใกล้กันมากพอ ดาวดวงใดดวงหนึ่งก็สามารถกลืนกินเพื่อนร่วมวงโคจรของตนได้ ทำให้ดาวอีกดวงหมุนวนเข้าด้านใน จนกระทั่งดาวทั้ง 2 ชนกัน ซึ่งขณะที่ดาวอีกดวงสูญเสียพลังงานในการโคจร มันก็สามารถขับวัสดุออกไปด้วยความเร็วสูง
ดังนั้น การค้นพบเนบิวลาวงแหวนสีฟ้าที่หายากจึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เพราะมีความเป็นไปได้ที่จะพบวัตถุดังกล่าวมากขึ้นในอนาคต หากเป็นเช่นนั้น ก็จะทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้รับข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมเกี่ยวกับส่วนที่เหลือของการรวมตัวกันของดวงดาวและกระบวนการที่ควบคุมพวกมันได้.
(ภาพ : Credit : NASA/JPL-Caltech/M.Seibert (Carnegie Institution for Science)/ K.Hoadley (Caltech)/GALEX Team)