

โซจู คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่พบเห็นได้ทั่วไปในเกาหลี มีสีใส กลิ่นและรสชาติเหมือนวอดก้า ในช่วงก่อนสมัยสงครามเกาหลี โซจูทำมาจากข้าวเป็นหลัก แต่เนื่องจากภาวะสงคราม ข้าวเริ่มหายากขึ้น จึงได้เปลี่ยนวัตถุดิบจากข้าวมาเป็นมันหวาน ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ และมันสำปะหลังแทน เดิมทีการทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ไม่ได้เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของเกาหลี แต่เกาหลีได้รับวัฒนธรรมการดื่มนี้มาจากชาวมองโกล และชาวมองโกลก็ได้รับภูมิปัญญาในการกลั่นเหล้ามาจากชาวอิรัก ช่วงต้นศตวรรษที่ 13 ยุคโครยอ โซจูนั้นหายากและมีราคาแพง เพราะมีการผลิตที่ยุ่งยาก จึงเป็นเครื่องดื่มสำหรับคนชนชั้นสูงเท่านั้น
แต่ในช่วงปีค.ศ. 1919 เกาหลีก็ได้ตั้งโรงงานผลิตโซจูเป็นครั้งแรกที่เมืองพยองยาง ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โซจูกลายเป็นเครื่องดื่มที่เข้าถึงกลุ่มคนชนชั้นอื่นนอกจากชนชั้นสูง และหลังจากตั้งโรงงานโซจูเป็นครั้งแรกก็มีโรงงานที่ผลิตโซจูเพิ่มขึ้น โซจูจึงมีราคาที่ถูกลง และเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบันนี้ กระบวนการทำโซจู เริ่มจากการเอามันหวาน ข้าวโพด ข้าวหรือมันสำปะหลัง ไปต้มหรือนึ่งให้สุก แล้วนำมาหมักกับหัวเชื้อที่เรียกว่า “นูรุก” เพื่อให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนเป็นแอลกอฮอล์ หลังจากนั้นนำมากลั่นให้ออกมาเป็นแอลกอฮอล์ที่ใส ไม่มีสี
ในปัจจุบันนี้ แบรนด์ต่าง ๆ ก็ปรับรสชาติให้ดื่มง่ายขึ้น โดยการใส่กลิ่นผลไม้ลงไป เป็นโซจูรสพีช โซจูรสส้ม โซจูรสองุ่น โซจูรสโยเกิร์ต และมีอีกหลากหลายสูตร หลากหลายรูปแบบออกมา นอกจากใส่กลิ่นเพิ่มแล้ว ก็ยังนำไอดอลมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ทำให้โซจูมีภาพลักษณ์ที่เข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัยอีกด้วย โซจู 1 ขวด มีปริมาณแคลลอรี่อยู่ที่ 250 – 280 กิโลแคลอรี่ และมีปริมาณแอลกฮฮอล์อยู่ที่ 20 – 34% แต่ถ้าเป็นโซจูกระป๋องรสผลไม้ ปริมาณแอลกอฮอล์จะอยู่ที่ 14 – 16% เท่านั้นค่ะ
นุรุก จุลินทรีย์ที่ใช้หมักโซจู
ส่วนสำคัญในกระบวนการหมักที่ขาดไม่ได้เลย คือจุลินทรีย์ในการหมักนั่นเองค่ะ ซึ่งจุลินทรีย์หรือ “นูรุก” ที่ใช้ในการหมักโซจูนั้น ทำมาจากข้าวสาลีที่บดและอัดในพิมพ์สี่เหลี่ยมหรือวงกลม แล้วนำไปทิ้งไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิสูงเป็นเวลา 1 สัปดาห์ โดยวางไว้บนกองฟางหรือหญ้า ในระหว่างนี้ เชื้อรา Aspergillus oryzae, Rhizopus oryzae และยีสต์ จำพวก Saccharomyces, Saccharomycopsis และ Pichia จะเจริญเติบโตขึ้น ก้อนนุรุกจะแห้งและมีลักษณะแข็ง ด้านนอกจะมองไม่เห็นเชื้อรา แต่ถ้ากระเทาะดูข้างในแล้วจะเห็นเป็นเส้นใยสีเหลือง ๆ ถ้ามีเส้นใยแปลว่าก้อนนูรุกสามารถนำไปใช้ได้ นอกจากข้าวสาลีแล้วก็ยังสามารถใช้ข้าวบาร์เลย์ และข้าวในการหมักให้เกิดเชื้อราก็ได้
วัฒนธรรมในการดื่มโซจู
ส่วนใหญ่คนเกาหลีมักดื่มโซจูพร้อมกับมื้ออาหาร แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดื่มให้หลากหลายมากขึ้น เช่น
ดื่มเพียว ๆ แบบไม่แช่ หรือแบบแช่เย็น ปกติแล้วมักกินคู่กับอาหาร
ดื่มแบบผสมเบียร์ เรียกว่า โซแมก (มาจากคำว่า โซจู + แมกจู ที่แปลว่าเบียร์)
ดื่มแบบผสมเป็นค็อกเทล ส่วนผสมหลัก ๆ คือ สไปร์ท โซดา มะนาว ยาคูลท์ ฯลฯ
อาหารที่มักกินคู่กับโซจู
อาหารที่มักกินคู่กับโซจู มีด้วยกันหลากหลาย แต่ที่คนเกาหลียกให้เป็นอาหารที่ต้องกินคู่กับโซจู คือ
หมูย่างเกาหลี
ซุนแด หรือไส้กรอกเลือด
โอเด้ง และต๊อกบกกี
โบซัม หรือหมูสามชั่นนึ่ง กินกับกิมจิและผัก
เต้าหู้กิมจิ เต้าหู้สด หั่นเป็นชิ้น ๆ และกิมจิผักกาดขาว
คัมจาทัง หรือ แกงเผ็ดมันฝรั่ง
ปลาดิบ
จกบัล หรือ ขาหมูตุ๋น
แมอุนทัง หรือ แกงเผ็ดใส่ปลาทะเล
มาม่าเกาหลี
สรุปแบบง่าย ๆ
กระบวนการ : ใช้การหมักและนำมากลั่น
ลักษณะภายนอก : สีใส มีกลิ่นแอลกอฮอล์
รสชาติ : บาดคอ หวานเล็กน้อยที่ปลายลิ้น
ประเทศที่นิยมดื่ม : เกาหลี
ปริมาณแอลกอฮอล์ : 14 – 34%
โซจู 1 ขวดกี่แคล : 250 – 280 กิโลแคลอรี่
อ่านต่อได้ที่ https://www.wongnai.com/articles/soju-shochu-sake?ref=ct